ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : สมเด็จกรุบึงพระยาสุเรนทร์ พระกรุพระเก่า100กว่าปี

(D)
ในวงการคงทราบกันดีถ้าใครเล่นพระเครื่องคงไม่มีใครไม่รู้จัก หลวงปู่ทองวัดราชโยธา ผุ้ปลุกเสกพระกรุนี้ ตอนนี้เซียนพระเริ่มจะให้ความสนใจมากขึ้น และ นักเลงพระ เริ่มที่จะหาเช่าบูชากันมากขึ้น เป็นพระกรุที่ดีกรุหนึ่ง พุทธคุรดีเยี่ยมจากการที่ได้ประจักษ์ในสงครามอินโดจีน ขนาดจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องนำมาแจกทหารเพื่อติดตัวไปในสงคราม ไม่มีพระกรุไหนอีกแล้วที่มีประวัดติชัดเจนที่ว่านำพระมาแจกทหารติดตัวนำไปรบในสงคราม ขนาดพระกรุดังๆก็ยังไม่มีประวัติชัดเจนแน่ชัดว่าใครสร้าง พระผงสุพรรณก็อ้างว่าเป็นพระนเรศวรติดตัวไปรบ แต่ใครจะรู้ไม่มีใครเกิดทัน ใครปลุกเสกก็อ้างว่าเป็นฤาษี เกิดทันกันเหรอครับท่านๆ ได้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมา ไม่แน่ชัดเท่าไหร่ กรุบึงพระยาสุเรนทร์แน่นอน พระยาสุเรนทร์สร้าง ลูกหลานเจ้าพระยาบดินทร์เดชา สิงหเสนี หลวงปู่ทองปลกเสก จอมพลป. แจกทหารตอนรบ กลับมาปลอดภัยแคล้วคลาด ชนะสงครามด้วย เพื่อนๆลองหาศึกษาดูนะครับ ถ้าใครมีความรู้ก็แบ่งปันกันได้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ศึกษากรุนี้อย่างจิรงจัง และเก็บเข้ารังของผมเองเพราะอนาคตมีแน่นอน พระกรุที่ราคาแพงๆ เก๊ก็เยอะ เพื่อนๆไม่ต้องหาแล้วละครับ กรุนี้แน่นอนกว่ามาก ไม่ได้ค่าโฆษณาจากใครนะครับ แต่ว่าผมติดตามศึกษามานาน อยากจะบอกเพื่อนไห้ลองหันมาให้ความสนใจกันดูนะ มีอะไรคุยกันได้นะครับ ตั้ม บึงพระยาสุเรนทร์....

โดยคุณ มีสวัสดิ์ (1K)(1)   [อา. 01 มิ.ย. 2551 - 16:33 น.]



โดยคุณ มีสวัสดิ์ (1K)(1)   [อา. 01 มิ.ย. 2551 - 16:47 น.] #295122 (1/9)
ขออนุญาต นำประวัติการสร้างของพระกรุบึงพระยาสุเรนทร์ที่เพื่อนสมาชิกลงไว้มาลงใหม่นะครับ..........
พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ ถือกำเนิดที่ วัดพระยาสุเรนทร์ ตำบลสามวา อำเภอมีนบุรีเดิมวัดนี้ชื่อ "วัดบึงพระยาสุเรนทร์" ด้วยบริเวณใกล้ๆ ที่ตั้งวัดมีบึงขนาดใหญ่แต่ขณะนี้ทางวัดได้ดำเนินการถมบึงดังกล่าวแล้ว จนไม่สามารถทราบว่า ในอดีตเคยมีบึงใหญ่มาก่อน คือ ถมดินจนสูงเสมอ พื้นโดยรอบ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดพระยาสุเรนทร์" โดยตัดคำว่า "บึง " ออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านละแวกนั้นตลอดจนนักสะสมพระเครื่องทุกระดับชั้น ก็ยังคงเรียกชื่อ "วัดบึงพระยาสุเรนทร์" เหมือนเดิมเพราะคุ้นหู และติดปากมาโดยตลอด
ประวัติพระยาสุเรนทร์
ท่านเจ้าพระยาสุเรนทร์ราชเสนา (พึ่ง สิงหเสนี) บุตรของ ท่านพระยามุขมนตรี และเป็นหลานของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์สิงหเสนี) ต้นตระกูลสิงหเสนี รับราชการทหารในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็น"พระยา" ถือศักดินา 4,000 ไร่ จึงออกไปจับจองที่ตามศักดินา ณ อาณาบริเวณอันเป็นที่ตั้งวัดบึงพระยาสุเรนทร์ในขณะนี้
เมื่อจับจองที่ตามศักดินาแล้วท่านได้ปลูกบ้านบริเวณบ้านฉาง ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัดประมาณ 10 เส้น โดยเว้นช่วงที่ตรงบึงขนาดใหญ่ หรือบึงพระยาสุเรนทร์ จำนวน 48 ไร่ ไว้ ต่อมาท่านได้สร้างวัดขึ้น คือ วัดบึงพระยาสุเรนทร์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2431 ในชีวิตบั้นปลายของ เจ้าพระยาสุเรนทร์ได้หันเหเข้ามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดบึงพระยาสุเรนทร์ที่ท่านได้สร้างไว้ และอุปถัมภ์เสมอมา โดยถือศีลและบวชเณรด้วย ( เหตุที่ท่านไม่อุปสมบทเป็นพระ เพราะมีโรคประจำตัว คือริดสีดวง คนโบราณเขาถือ)
ใครสร้าง พระสมเด็จ บึงพระยาสุเรนทร์ ?
หลังจาก เจ้าพระยาสุเรนทร์ สร้างวัดบึงพระนาสุเรนทร์และได้บรรพชาเป็นสามเณรท่านได้สร้างพระพิมพ์ เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาตามคตินิยมแต่โบราณแล้วนำส่วนหนึ่งแจกแก่ผู้ต้องการนำไปบูชาติดตัวนอกนั้นบรรจุในองค์พระเจดีย์ข้างบึงพระยาสุเรนทร์และได้ฐานชุกชีพพระประธานในพระอุโบสถ
ท่านอธิการดวง สิงหเสนี เจ้าอาวาสวัดบึงพระยาสุเรนทร์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของ เจ้าพระยาสุเรนทร์ ได้สืบเสาะเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ โดยสอบถามจากโยมบิดา (บุตรชายคนโต ของเจ้าพระยาสุเรนทร์) และผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทันยุคทันสมัย นั้น พอสรุปได้ว่า พระยาสุเรนทร์เดิมทีเป็นผู้สนใจวิชาอาคม และได้รับการถ่ายทอดการปลุกเสกน้ำมันมนต์วิเศษของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (ปู่) สำหรับออกทัพจับศึกให้ผิวหนังคงทนต่อศาสตราวุธทั้งปวงและก่อนที่ท่านจะบรรพชาเป็นสามเณร ยังสืบหาพระเกจิอาจารย์จอมขมังเวท ขอถ่ายทอดวิชาอาคมแขนงต่าง ๆ รวมทั้งขอผงวิเศษ และว่านศักดิ์สิทธิ์นานาชนิดเก็บรวบรวมรักษาไว้กระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรได้ดำริสร้างพระพิมพ์ขึ้นด้วยตนเองโดยดำเนินการด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแกะพิมพ์พระด้วยงาช้าง,ผสมผงกดพิมพ์พระ และการปลุกเสก
กรุแตก
พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ แตกกรุเป็นปฐมครั้งแรกเมื่อคราวสงครามอินโดจีน ปี พ.ศ. 2485 ขณะนั้น โยมชุ่ม สิงหเสนี (โยมบิดาของท่านอธิการดวง) และท่านอาจารย์กร่ำเจ้าอาวาสสมัยนั้นได้นำพระที่พบภายในองค์พระเจดีย์มอบให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แจกแก่ทหารจำนวนสามถุงใหญ่ ประมาณว่าหลายพันองค์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ทางวัดได้ทำการเปิดกรุอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ที่ใต้ฐานชุกชีพพระประธานในพระอุโบสถ และได้นำพระออกจำหน่ายให้ประชาชนผู้เสื่อมใสศรัทธาทำบุญบูชาองค์ละ 500 บาท เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้รุ่งเรืองวัฒนาสืบไป
แบบพิมพ์
พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ที่พบ และเล่นหากันเป็นมาตรฐานสากลยอมรับกันนั้นมีอยู่ 5 พิมพ์ด้วยกัน คือ
1. พิมพ์สมเด็จฐาน 3 ชั้น
2. พิมพ์สมเด็จฐานแซม
3. พิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์
4. พิมพ์พระเจ้า 5 พระองค์
5. พิมพ์สมเด็จเล็บมือ หรือบางท่านเรียก"พิมพ์ซุ้มกอ"
นอกจากทั้ง 5 พิมพ์ดังกล่าวแล้วท่านผู้รู้ (เซียน) บางท่านยังกล่าวว่า มีพิมพ์พิเศษอีกด้วยคือ พิมพ์ห้า เหลี่ยม และพิมพ์ทรงเจดีย์ แต่ผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยเห็นสักองค์ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาอีกทอดหนึ่งดังนั้นไม่ขอ ยืนยันแน่ชัด
เนื้อพระ
มีเฉพาะเนื้อผงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้นเนื้อละเอียดปานกลาง และแน่นแกร่งพอสมควร สีเขียวอมเทา ซึ่งสีนี้ละม้ายคล้ายคลึงกับ พระสมเด็จปิลันทน์ วัดระฆังและพระกรุวัดท้ายตลาด แต่ไม่ถึงกับเหมือนเลยทีเดียวบางองค์สีเขียวอ่อน บางองค์สีเขียวเข้มไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพที่ผ่านการห้อยบูชาหรือสัมผัสจับต้องมากน้อยเพียงไร เพราะเนื้อพระหากสัมผัสเหงื่อ หรือจับต้องบ่อย ๆ จุดนูน หรือจุดที่ต้องสัมผัส เช่น ซุ้ม , พระพักตร์,ฐาน ฯลฯ เนื้อจะจัดเข้มแลดูมันฉ่ำใสคล้ายเนื้อ "ผงน้ำมัน" ทำให้สีพลอยเข้มจัดไปด้วย
จุดสังเกตอย่างหนึ่งที่ควรจดจำก็คือ เนื้อพระมักจะลั่นร้าวแตกปริ (ในองค์ที่ยังไม่ผ่านการใช้) แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่อย่างชัดเจนแต่ในองค์ที่ไม่เห็นรอยสั่นร้าวแตกปริอาจเป็นเพราะคราบกรุ และขี้กรุบดบังไว้นอกจากนี้น้ำหนักพระจะมากไม่สมดุล กับขนาดด้วย
คราบกรุ - ขี้กรุ
สำหรับ พระที่แตกกรุเมื่อคราวสงครามอินโดจีน คือ พบที่องค์พระเจดีย์ข้างบึงใหญ่ จะมีคราบกรุหรือดินขี้กรุน้อย ถ้ามีก็จับเกาะ ติดแค่ประปราย ไม่มากนัก ผิดกับพระที่ขึ้นจากใต้ฐานชุกชีพพระประธานในพระอุโบสถซึ่งมีคราบกรุขี้กรุขาวนวลจับเกาะทั่วทั้งองค์ แต่คราบนี้จะเกาะเพียงแค่หลวม ๆ ไม่ติดแน่น
ด้านหลัง
ส่วนมากเท่าที่พบ จะมีรอยอักขระเหล็กจารอ่านได้ว่า "ติ ติ อุ นิ" อยู่ภายในเส้นยันต์ล้อมรอบ และอาจมีอักขระตัวอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น อุณาโลม เป็นต้น แต่บางองค์ด้านหลังเรียบไม่ปรากฏเหล็กจารก็มีเช่นกัน แต่น้อยมาก และจะด้วยความนิยมกว่า พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์มีการปลอมแปลงเลียนแบบมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ฝีมือยังไม่วิวัฒนาการก้าวไกลถึงขนาดใกล้เคียงทั้งนี้เพราะความนิยม และราคาเล่นหายังไม่กระเดื้องแต่ต่อไปไม่แน่หากพระกรุนี้สนนราคาขึ้นหลักหลาย ๆ พันบาท หรือองค์หนึ่งเป็นหมื่นบาทละก็ ของเก๊ฝีมือระดับพระกาฬย่อมทะลักออกมาอย่างแน่นอนที่สุด
การพิจารณาความแท้ - เทียม
1. พิมพ์
ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตจากภาพประกอบบทความนี้พระองค์ซึ่งนำภาพมาลงให้ทัศนากันล้วนแต่เป็นพระชนะเลิศงานประกวดทุกองค์ แต่ความสวยงามหาได้เลิศเลอจัดจ้านเท่าใดนักแสดงว่าพระกรุนี้หย่อนงามมาแต่เดิม แต่ของเก๊เลียนแบบนั้นมักจะสวยงามคมชัด หาตำหนิแทบไม่เจอ รอยกะเทาะแหว่งมุมนิดเดียวก็ไม่มี ซึ่งผิดจากธรรมชาติพระเก่าพระกรุซึ่งต้องมีรอยตำหนิหรือกะเทาะให้เห็นบ้างไม่มากก็น้อยประเภทที่เนี๊ยบ 100 เปอร์เซ็นต์ หาทำยายากขอรับ
2. ขนาด
พระเก๊มักจะมีขนาดเล็ก หรือย่อมกว่าเล็กน้อย หากมองเผิน ๆ อาจไม่นึกถึงเพราะใกล้เคียงกันมากแต่ถ้ามีตัวอย่างเทียบ หรือหมั่นจดจำด้วยสายตาตลอดจนความรู้สึกจะสะดุดตา และหยุดคิดทันที ถ้าหากหดหรือเล็กกว่าปกติ มักจะเป็น " ของเก๊ " ด้วยการถอดแบบพิมพ์จากพระแท้มาเป็นแบบนั่นเอง
3. รอยเหล็กจาร
พระแท้ด้านหลังรอยเหล็กจารจะเขียนเป็นเส้นเล็ก แต่จะหวัด ๆ ไม่ปราณีบรรจง ผิดกับด้านหลังของเก๊ จะบรรจงเขียนซะสวยงาม เพื่อดึงดูดความสนใจ และที่สำคัญที่ร่องอักขระจารจะต้องมีคราบกรุ หรือขี้กรุเกาะติดให้เห็นบ้าง ส่วนของเก๊มักจะลืมถึงจุดนี้ มักจะเน้นคราบที่ด้านหน้าเท่านั้น
4. สี และรอยปริ
เนื้อพระของแท้มีจะออกเขียวอมเทาในองค์เดียวกันสีก็จะเหลื่อมล้ำกันบ้างเล็กน้อย เช่น ช่วงบนเข้ม ช่วงล่างอ่อน ผิดกับของเก๊สีเนื้อเป็นสีเดียวกันตลอดทั้งองค์นอกจากสีพระที่ควรจะศึกษาแล้ว ควรศึกษารอยปริแตกลั่นร้าวด้วย เพราะของเก๊ยังทำไม่เหมือนกับของแท้
พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ มีพุทธคุณโดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรีมีชื่อเสียงโด่งดังเกรียวกราวมากในสมัยสงครามอินโดจีน นอกจากนี้ยังเข้มขลังไปด้วย คุณวิเศษ ในด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ มหาโชคลาภด้วยเช่นกัน
ความนิยม
เมื่อหลายสิบปีก่อน พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ นักเลงพระทั้งหลายเล่นหากันมาก แต่ราคาค่านิยมก็ไม่พุ่งพรวดเหมือนกับสำนักอื่น ๆ ที่เชียร์กันขนาดใหญ่ มาบัดนี้ก็เช่นกัน ราคาและความนิยมก็ยังไม่กระเตื้องเหมือนเช่นเคยคือยังเล่นหาอยู่แต่หลัก " พัน " ต้น ๆ ซึ่งเมื่อเทียบถึงความเก่า ซึ่งสร้างไว้ประมาณ 100 ปี ประกอบกับคุณวิเศษความศักดิ์สิทธิ์แล้วนับว่าพระกรุนี้น่าเก็บสะสม และน่าบูชามาก

โดยคุณ อะมิตตาพุทธ (1.1K)(1)   [อา. 01 มิ.ย. 2551 - 20:54 น.] #295237 (2/9)
เห็นด้วยครับ มีหนังสือเก่าบางเล่มจัดให้เป็นชุด"เบญจพอดี"สมเด็จเขียวเหนียวจริงๆ

โดยคุณ dokebi_123 (679)  [จ. 02 มิ.ย. 2551 - 03:01 น.] #295433 (3/9)
เรียนถามพี่ตั้ม บึงพระยาสุเรนทร์ ครับ
แล้วกรุใหม่ กรุเก่า เล่นหาเหมือนกันไหมครับ

โดยคุณ dokebi_123 (679)  [จ. 02 มิ.ย. 2551 - 03:11 น.] #295436 (4/9)
เพราะเห็นบัตรการันตีพระ ในหน้าประมูล ก็ไม่เห็นระบุ กรุเก่า กรุใหม่
ขอคำยืนยันจากผู้รู้หน่อยครับ
เพราะมีกรุใหม่หลายองค์ จะได้ห่มจีวร อาราธนา ขึ้นคอเสียที
ขอบคุณล่วงหน้าครับ ขอให้รวยๆเฮงๆ ครับ

โดยคุณ baipo (1K)  [จ. 02 มิ.ย. 2551 - 08:30 น.] #295491 (5/9)
กรุใหม่เล่นหากันถูกกว่ากรุเก่าหลายเท่าครับ สมัยก่อนเค้าเล่นกันแต่กรุเก่าครับ เพราะเค้าว่ากันว่ากรุใหม่คือพระที่แตกหักจากกรุเก่ามาบดทำใหม่ แต่ก็มีบางองค์ที่แยกไม่ออกก็มีครับเลยทำให้คนเล่นกลัวสับสน ราคาเลยไปไม่ถึงไหนครับ
วิธีสังเกตุพระกรุเก่าแบบคร่าวๆ จะไม่คราบกรุให้เห็น เนื้อพระสีออกเขียวเข็มๆ องค์พระดู หนาๆเท่าๆกัน รอยจารมีความลึกชัดเจนกว่า


โดยคุณ มีสวัสดิ์ (1K)(1)   [จ. 02 มิ.ย. 2551 - 15:17 น.] #295628 (6/9)
กรุใหม่ กรุเก่า เหมือนกันครับ พุทธคุณเหมือนกันหมด ปลุกเสกพร้อมกันเมือร้อยกว่าปีที่แล้ว ทางวัดไม่ได้ทำขึ้นใหม่นะครับ ดูจากรอยจารด้านหลังเป็น ติติอุนิ ลายมือของหลวงปู่ทองวัดราชโยธาเหมือนกันทุกองค์ พระกรุเก่าคือแจกตอนสงครามโลก ส่วนกรุใหม่คือพระที่แตกกรุเมื่อปีพ.ศ.2512ทางวัดนำมาออกให้เช่าราคาไม่กี่บาทในขณะนั้น กรุใหม่ในความคิดผมจะมีเยอะ กรุเก่าเก็บกันหมดเพราะทหารได้รับแจกตอนสงครามเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ เพื่อนๆที่สงสัยในกรุเก่าใหม่เหมือนกันหมดล่ะครับ ใช้ได้เหมือนกัน ขณะนี้จะดูที่พระสวยไม่สวย สวยก็จะราคาสูงขึ้นอีกหน่อย 1500-3000บาท พระหย่อนสวยอาศัยพุทธคุณก็ 700-800 บาท ตอนนี้ผมกำลังไล่ล่าเช่าเก็บเข้ารังอยู่น่ะครับ เน้นพระสมเด็จบางขุนพรหม17 กับสมเด็จเขียว เพื่อนลองศึกษาหรือว่าลองหาเช่าดูนะครับ นิมนต์ขึ้นคอดีแน่นอนครับทั้งแคล้วคลาดคงกระพัน ทหารอินโดจีนของไทยถูกยิงไม่เข้านะครับจะบอกให้ มีเมตตามหานิยมด้วยนะ

โดยคุณ มีสวัสดิ์ (1K)(1)   [จ. 02 มิ.ย. 2551 - 15:41 น.] #295647 (7/9)
จะดูง่ายหลักๆคือองค์พระมีความแกร่งแข็งเป็นหิน (ที่เขาเรียกกันว่าหินใบมีดโกนครับ)เพราะสามารถกีดกระจกเข้า ลักษณะองค์สวยจริงๆมีน้อยมากพระมีอายุ 100 ปีขึ้นไปตามกาลเวลาครับ มีคราบกรุชัดเจนส่วนที่ว่ามีปลอม ผมสังเกตดูในเว็ปไม่พบ ผมจะเฝ้าระวังให้รับประกันได้ครับเพราะผมสัมผัสพระมามากพอจะดูออก เก้ก็พบเห็นอยู่เหมือนกันตามแผงตู้พระสภาพพระสวยไม่มีน้ำหนักองค์พระเวลาเคาะกับพื้นกระจกฟังเสียงไม่มีความแกร่งแตกง่าย
ข้อมูลเกี่ยวกับพระที่ทราบมาจากหลายท่านในกลุ่มที่มีพระชุดนี้ และท่านเจ้าอาวาสวัดพระยาสุเรนทร์ คือ พระมีขโมยงัดกุฏิวัด พระหายออกไปประมาณ 3000 องค์จึงกระจายอยู่ทั่วไปและเริ่มจะหาได้ยากแล้ว ราคาก็จะขยับเหมือนเดิมคือ 1500 - 3000 บาท ส่วนพุทธคุณเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เหนี่ยวคงกระพัน เมตตามหานิยม (คนที่ขโมยออกไปตอนหลังต้องเข้ามาขอขมาต่อท่านเจ้าอาวาส บ้างคนก็ถึงกับเสียสติไปก็มี เด็กแถวๆวัด) ท่านใดยังไม่มีไว้ต้องรีบหานะครับจะหาไม่ได้แล้วในระยะเวลาไม่นานนี้เพราะมีคนเก็บไว้โก่งราคาเมื่อพระหมดตลาด

โดยคุณ มีสวัสดิ์ (1K)(1)   [จ. 02 มิ.ย. 2551 - 15:51 น.] #295649 (8/9)
(หลังจากสมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆังฯ มรณภาพเพียง 2 ปี) บางท่านก็ว่าสร้างในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 สัปดาห์นี้จึงขอนำเอาเรื่องพระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์มาเล่าสู่กัน
พระยาสุเรนทร์ (พึ่ง สิงหเสนี) เป็นบุตรพระยามุขมนตรี เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา รับราชการสมัยแผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ 5 มีศักดินา 4000 ไร่ (แถบบริเวณที่สร้างวัด) เมื่อออกจากราชการแล้วจึงได้สร้างวัดบึงพระยาสุเรนทร์ขึ้นที่คลองสามวา กรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2431
พระยาสุเรนทร์ได้ศึกษาอาคมต่างๆ จากเจ้าพระยาบดินทรเดชา และเกจิคณาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อทอง วัดราชโยธา ได้พบเอกสารสำคัญจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฝ่ายเอกสารสำคัญ จึงทำให้เกิดความกระจ่างแจ้งเกี่ยวกับพระวัดบึงพระยาสุเรนทร์ได้อย่างสมบูรณ์ เอกสารจดหมายฉบับนี้พระยาสิงหเสนีได้บรรยายเรื่องการสร้างพระครบครัน เพราะเป็นจดหมายที่นำความกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เพื่อนำเอาพระเครื่องวัดบึงพระยาสุเรนทร์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับพระราชทานแก่ทหารที่จะไปร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยจดหมายนี้ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2460 ซึ่งพอรวบรวมความได้ดังนี้
พระยาสิงหเสนีไปเยี่ยมพระยาสุเรนทร์ซึ่งบรรพชาอยู่ที่วัดบึงพระยาสุเรนทร์ ได้คิดทำการสร้างพระเครื่องขึ้นมาชุดหนึ่ง ความในจดหมายจารึกปี พ.ศ.2450 ที่พระยาสิงหเสนีไปเยี่ยมพระยาสุเรนทร์ ปรารภว่า คิดจะสร้างพระมานานแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ พระยาสิงหเสนีจึงรับเป็นอุปัฏฐากด้วยการถวายเครื่องมือสำคัญในการสร้างพระครั้งนี้ กล่าวคือ แม่พิมพ์ที่ทำจากไม้ชิงชัน โดยเค้าแบบพิมพ์มาจากพระวัดระฆังฯ
ส่วนมวลสารนั้น พระยาสุเรนทร์ตระเตรียมไว้อยู่แล้วครบ ประกอบด้วยผงพุทธคุณ ผงนะแผ่นดิน ผงนะพินทุ ผงนะปฐมกัป น้ำมันมนต์แต่งคนเพื่อหนังเหนียวเป็นวิชาประจำตระกูลสิงหเสนี นอกจากนี้ยังมีน้ำตำลึงคั้นบดละเอียด แล้วกดเป็นพระ โดยตั้งใจไว้ว่าพระส่วนหนึ่งแจกแก่บรรดาญาติ อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่วัด ส่วนที่เก็บเอาไว้กับญาติๆ นั้นคราใดที่เกิดศึกสงครามก็ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงได้นำพระจำนวน 1,500 องค์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สำหรับพระราชทานทหาร (ข้อมูลจากหลักฐานเอกสารที่กลาโหมบันทึกบอกแก่แม่ทัพนายกองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 รับสั่งเรื่องพระราชทานพระเครื่องแก่ทหาร)
พระเครื่องพิมพ์นี้ปัจจุบันเรียกว่า พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ เป็นพระเนื้อผง มวลสารหลักคือผงปูนซีเมนซ์ผสมกับผงพุทธคุณวิเศษต่างๆ และน้ำตำลึงคั้น องค์พระจึงเป็นสีเขียวทำเอาบางคนเรียกว่าพระสมเด็จเขียว แบบพิมพ์ได้เค้าโครงจากพระสมเด็จของหลวงปู่โตวัดระฆังฯ มีแบบพิมพ์ทั้งหมดดังนี้ 1 พิมพ์ฐานแซม 2.พิมพ์ปรกโพธิ์ 3.พิมพ์พระเจ้า 5 พระองค์ (พิมพ์นิยม) 4.พิมพ์เล็บมือ ด้านหลังมียันต์ ติ ติ อุ นิ
พระสมเด็จวัดบึงพระยาสุเรนทร์ของแท้ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ไหนก็ตามเนื้อของพระจะปริแยก เนื่องจากเนื้อพระไม่เกาะติดชิดแน่นเพราะปูนซีเมนซ์ทำปฏิกิริยากับผงต่างๆ ไม่รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งธรรมชาติของพระที่ผ่านกาลเวลามานาน ประเภทแบบพิมพ์พระสมเด็จด้านหน้าไม่ลึกมากและตื้นๆ ขอบพระตัดด้วยตอกไม้ไผ่ มีร่องรอยเป็นทิวๆ ขอบหนามีร่องรอยปริแยกค่อนข้างมาก หลังมีรอยจารยันต์ ติ ติ อุ นิ ด้วยมือของพระยาสุเรนทร์เองทุกองค์ ลักษณะของรอยจารึกจะเป็นเส้นเล็กเรียวบางแต่คมและไม่ลึกมากนัก เป็นรอยลายมือหวัดๆ วรรณะสีของพระมีทั้งเขียวเข้ม เขียวอ่อน สีเทาสีออกนวลขาวก็มี ในพระหนึ่งองค์นั้นสีจะไม่เสมอกัน เช่น หากพระสีเขียวอมเทา ด้านบนของพระอาจจะเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างอาจจะเขียวอ่อน
หากเป็นของเทียมรอยจากด้านหลังจะหนาเขียนบรรจง ร่องรอยการปริแยกตามขอบพระทำไม่เหมือน รอยการตัดขอบด้วยตอกไม่มี ที่สำคัญเนื้อของพระโดยรวมดูแล้วจะออกไปทางน้ำมันเล็กน้อย แต่มีความแห้งของพระอยู่ในตัว
พระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์นี้เลิศทางแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรีมีเมตตาด้วย ราคาในการเช่าบูชาอยู่ที่หลักร้อยปลายๆ ถึงหลักพันกลางๆ ประมาณ 800 บาท-3000 บาท นิยมมากสุดคือพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์และพิมพ์สมเด็จฐานแซม ที่สำคัญพระวัดบึงพระยาสุเรนทร์นี้หลวงปู่ทอง วัดราชโยธาปลุกเสกด้วยแน่นอน จึงนับว่าเป็นพระดีที่ราคาน้อยแต่ไม่ด้อยพุทธคุณ ควรค่าแก่การบูชา.
ราช รามัญ

โดยคุณ dokebi_123 (679)  [อ. 03 มิ.ย. 2551 - 02:57 น.] #295991 (9/9)
ขอบคุณพี่ใบโพธิ์มากครับ ด้วยเอวัง..ก็เป็นประการระฉนี้

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM